ผลิตภัณฑ์ในชุมชน

ขนมทองม้วน

          ทองม้วน เป็นขนมไทยโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2  ทองม้วนสมุนไพรบ้านสวน ผลิตโดยกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีตำบลบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง โดยเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ”นางวรรณศิริ ลิปิสุนทร” หรือพี่ส้มของน้อง ๆ ประธานกลุ่ม เดิมพี่ส้มเป็นแม่บ้านอยู่บ้านเฉย ๆ มีเวลาว่างเยอะ เลยรวมรวมแม่บ้านที่มาได้ทำงานตั้งเป็น”กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีตำบลบางกะเจ้า” ขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2544 มีสมาชิก 25 คน ผลิตแชมพูมะกรูด แชมพูอัญชัน ครีมนวดผม สบู่เหลวมะขามผสมขมิ้น น้ำยาล้างจาน ปรากฏว่าการจำหน่ายล่าช้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้น สามารถใช้ได้นานกว่าจะหมดแล้วมาซื้อใหม่ ปี 2545 จึงคิดผลิตสินค้าที่สามารถขายได้ง่าย แล้วผู้บริโภคกลับมาซื้อได้บ่อย ๆ พี่ส้มจึงเสนอกับสมาชิกกลุ่มว่าจะผลิตขนมทองม้วนดีไหม เนื่องจากมีพื้นฐานการทำจากการที่ได้เรียนรู้มาจากจังหวัดนครปฐม สมาชิกลุ่มตกลงจึงได้ลองทำขนมทองม้วน แล้วทดลองจำหน่าย ผลปรากฏว่า ขายไม่ค่อยดี จึงสอบถามลูกค้า พบว่ารสชาติที่ได้ยังไม่เป็นที่ถูกใจ เพราะมีรสที่กะด้าง เลยไปกว้านซื้อขนมทองม้วนที่มีจำหน่ายอยู่ในทองตลาดทุกยี่ห้อ มาบริโภคเพื่อเปรียบเทียบรสชาติ ก็ยังไม่ได้รสชาติที่พอใจอีก ทางกลุ่มจึงคิดค้นพัฒนาสูตรขึ้นมาเป็นรสชาติที่หวาน เค็ม มีความกลมกล่อม ครั้งนี้ผลการจำหน่าย สามารถขายได้ดี ต่อมาผู้ซื้อหันไปนิยมผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทางกลุ่มก็มีแนวคิดที่จะนำสมุนไพรมาผสมในขนมทองม้วน เลยเริ่มจากการนำมะกรูดมาทำ เนื่องจากมะกรูดหาได้ง่าย เพราะสมาชิกกลุ่มปลูกกันเองที่บ้าน ไม่ใส่สารเคมี และมะกรูดมีคุณสมบัติที่สามารถขับลม เลยทดลองนำใบมะกรูด และก้านผักชี หั่นผสมกันใส่ลงไปในขั้นตอนการผลิต ลองอยู่หลายครั้ง จนได้รสชาติที่กลมกล่อม นำออกจำหน่าย และมีการทดลองรสฟักทอง,ใบเตย,เผือก,ทุเรียน,กาแฟ และชาเขียว ไปพร้อมกัน ผลตอบรับจากลูกค้าดีมากเกินคาด ปี 2547 มีการลงทะเบียนและคัดสรรสินค้า OTOP กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีตำบลบางกะเจ้า ก็ได้ส่งทองม้วนสมุนไพรบ้านสวน รสมะกรูด เข้าลงทะเบียน และคัดสรรสินค้า ได้ระดับ 4 ดาว ต่อมาปี 2549 ทดลองทำขนมทองม้วน รสปลาสลิด เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการมีชื่อเสียงเรื่องปลาสลิด ปรากฏว่าปีนี้ส่งคัดสรรได้ในระดับ 2 ดาว จึงหยุดผลิตขนมทองม้วนรสปลาสลิด ปี 2552 ส่งขนมทองม้วน รสมะกรูดเข้าคัดสรรอีก ปรากฏว่า ได้ระดับ 5 ดาว ปี 2553 เลยส่งขนมทองม้วน รสฟักทองเข้าคัดสรร ได้ระดับ 4 ดาว                                                                                                                                                          
ความสัมพันธ์กับชุมชน
1.       วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมาจากชุมชน
2.       ฝีมือและแรงงานเป็นคนในชุมชน ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี และกระจายรายได้สู่คนในชุมชน
3.       เปิดสอนให้กับเยาวชนในชุมชน และส่งเสริมให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม ก็ให้มาช่วยผลิตและนำไปจำหน่ายที่ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1.    แป้งมันสำปะหลัง                        
2.    กะทิ                                         
3.    แป้งสาลี                                   
4.    ไข่ไก่                                        
5.    ฟักทอง                                      
6.    น้ำตาลมะพร้าว                            
7.    น้ำตาลทราย                                
8.    เกลือ                                              
ขั้นตอนการผลิต
1.       นำแป้งมันสำปะหลัง,แป้งสาลีไปร่อนด้วยตะแกรงใส่กะละมังไว้
2.       นำแป้งมันสำปะหลังและแป้งสาลีที่ร่อนเสร็จแล้วมาร่อนผสมกัน
3.       นำกะทิสดเคี่ยวไฟให้เดือดเป็นหัวกะทิ เสร็จแล้วนำมาเทผสมกับแป้งที่เตรียมไว้ ใช้ตะกร้อคนแป้งที่ผสมกับกะทิให้เป็นเนื้อเดียวกันพักไว้
4.       นำไข่ไก่มาตีให้เนื้อเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน
5.       นำส่วนผสมทั้งหมดมาเทรวมกันและเติมน้ำตาลมะพร้าวที่ละลายแล้วเข้าไป คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วใส่เกลือลงไปคนให้เข้ากัน แล้วใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
6.       นำฟักทองไปล้างให้สะอาด นำมาหันเป็นลูกเต๋า แล้วนำไปเคี่ยวกับกะทิจนสุก แล้วพักไว้ให้เย็น เสร็จแล้วนำไปปั่นจนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำส่วนผสมทั้งหมดมาคนให้เข้ากัน
7.       นำส่วนผสมที่ได้มาปิ้งโดยใช้เตาปิ้งไฟฟ้า ตักใส่เตาละ 1 ช้อนโต๊ะ โดยใช้ไฟปานกลาง
8.       พอสุกให้พับริมทั้ง 2 ข้าง รอให้ระอุ เป็นสีเหลือง พับริมเสร็จแล้วนำไปม้วนด้วยไม้แกนกลาง 1 ซม.
ขอขอบคุณ
http://www.bangkokideaeasy.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น